
หากพูดถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์นับเป็นจิตกรรมที่ใครหลายคนคุ้นเคยและเห็นมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะภาพผลงานของขรัวอินโข่ง ที่ได้สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับวิธีเล่าเรื่องบนจิตรกรรมฝาหนังด้วยวิธีการแสดงปริศนาธรรม เพื่อนำเสนอว่าพระธรรมคำสอนในศาสนาพุทธมีความเป็นสากล และสามารถเล่าผ่านวิธีการที่เป็นเหตุเป็นผล จิตรกรรมของขรัวอินโข่งจึงเป็นต้นแบบสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้การวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยเฉพาะการวาดภาพ Bird’s-eye view ได้รับการพัฒนา ทดลอง และถูกปรับใช้เพื่อนำเสนอทั้งในบริบททางศาสนาและศิลปะร่วมสมัยอย่างสำคัญ

นอกจากนี้การเล่าเหตุการณ์จากมุมมอง Bird’s-eye view ยังเป็นจิตรกรรมประเภทหนึ่งที่ถูกใช้ทั้งในเอเชียและยุโรปแต่โบราณ ตั้งแต่การสร้างแผนที่ ไปจนถึงจิตรกรรมทางศาสนา ล้วนมีวิธีการสร้างจักรวาลวิทยาที่แตกต่างกัน เมื่อภาพถ่ายที่ถูกยกให้เป็นเครื่องมือที่สามารถถ่ายทอดความจริงด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทในการวาดภาพ ความจริงที่ผ่านกลไกทางการมองเห็นเหล่านี้ได้ถูกสอดแทรกเข้ามาในจิตรกรรมฝาผนังอย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะในประเทศไทยจักรวาลวิทยาในจิตรกรรมฝาผนังได้รับการปรับเปลี่ยนอย่างน่าสนใจในประวัติศาสตร์สู่การส่งอิทธิพลให้กับศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน ซึ่งจิตรกรรมเหล่านี้เป็นสื่อทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีภาษาเฉพาะ เป็นภาษาที่เอื้อและสนับสนุนความคิดในการจัดระเบียบทางสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันของคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันในสังคม พร้อมกับสำรวจวัฒนธรรมที่กำลังขับเคลื่อนไป

กว่าหลายปีที่ผลงานของ ขวัญชัย ลิไชยกุล ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ผ่านโลกของการวาดภาพแบบ Bird’s-eye view แม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีจะทำให้เราได้เห็นเมืองจากมุมมองทางอากาศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่สามารถมองเห็นมิติทางสังคมเพียงการมองผ่านเทคโนโลยี จิตรกรรมทิวทัศน์ของขวัญชัยทำให้เราสามารถเชื่อมโยงวิถีทางของทุนนิยมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนภาพวัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนไป พื้นที่ของอุตสาหกรรม เกษตรกรรม รูปแบบทางสังคมที่มนุษย์และโลกพึ่งพิงกันอยู่เป็นโครงสร้าง แต่ก็มีอีกหลายๆ แง่มุมที่ผ่านการรับรู้ในรูปแบบของข่าวสาร เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ เมื่อมนุษย์ได้ขยายพื้นที่เพื่อครอบครองที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง ดึงทรัพยากรต่างๆ มาขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างมหาศาล ภาพวาดของขวัญชัยได้ใส่รายละเอียดสำคัญๆ เหล่านี้ สะท้อนปฏิสัมพันธ์ระหว่างการดำรงชีวิตและเมือง เกิดเป็นความเคลื่อนไหวภายในจิตรกรรมที่ทำให้เราได้เฝ้ามองเหตุการณ์ที่น่าสนใจผ่านการจัดวางสังคมขึ้นใหม่ในผลงาน

จากพัฒนาการนี้ จิตรกรรมฝาผนังจึงมีพลวัตรในการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ และขวัญชัยนับว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้รับอิทธิพลความคิดจากพัฒนาการสำคัญๆ ของจิตรกรรมฝาผนัง เมื่อการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นมีรูปแบบและชั้นเชิงมากขึ้น ศิลปินใช้เพียงภาษาของเส้นเพื่อเล่าเรื่องราวของพื้นที่ ผู้คน ฉากทิวทัศน์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน อนุสาวรีย์สำคัญๆ ชุมชนที่กระจัดกระจายอยู่ในเมือง การกำหนดอาณาเขตทางพื้นที่และเวลาด้วยเส้นสินเทา โดยเฉพาะการช่วงชิงพื้นที่ ข่าวสาร ความเป็นไปทางสังคม วัฒนธรรม ตั้งแต่เรื่องราวของชาวบ้านไปจนถึงการดำรงอยู่ของชนชั้นนำในสังคม ความหนาแน่นของทิวทัศน์เบื้องหน้าซ่อนไว้ด้วยความเปราะบางของโครงสร้างที่ชวนให้ผู้ชมได้พิจารณาถึงการดำรงอยู่ในรูปแบบชุมชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย

นอกจากนี้การนำเสนอให้เห็นเหตุการณ์ กิจกรรมของมนุษย์ในผลงานจิตรกรรมเผยลักษณะสังคมที่ยังเจือปนไปด้วยความขัดแย้งจากแนวคิดที่แตกต่าง การใช้อำนาจ และการใช้ชีวิตต่างชนชั้น ภาพถ่าย และข่าวสารได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเรียนรู้รายละเอียดต่างๆ ในสังคม ซึ่งนอกจากการเดินสำรวจเมืองแล้ว ขวัญชัยใช้ทั้งข่าวสารที่แพร่กระจายอยู่ในสื่อต่างๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย เพื่อเติมเต็มภาพวาดที่เป็นตัวแทนของโลก ของพื้นที่ ชุมชน โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญที่ได้รับการจารึกไว้ในภาพวาด สิ่งเหล่านี้คือประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่เพียงการบันทึกกิจกรรมของมนุษย์ แต่สิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ก็ได้รับการบันทึกไว้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปของธรรมชาติหรือภัยพิบัติ มนุษย์และโลกต่างก็มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
นิทรรศการ Anthroposphere โดย ขวัญชัย ลิไชยกุล จึงว่าด้วยการนำเสนอโลกความจริงที่ไร้ปาฏิหาริย์หรือเรื่องราวเหนือจริงใดใด และเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของศิลปะที่ได้พัฒนาจากการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังให้เกิดสำนวนใหม่ๆ สอดคล้องกับกิจกรรมของมนุษย์และการหมุนไปในระบบสังคม การปะติดปะต่อเรื่องราวของผู้คน สิ่งก่อสร้าง ธรรมชาติ รวมถึงเหตุการณ์ทั้งหลายเข้าด้วยกัน แม้จะแตกต่างกันด้านเวลาและพื้นที่ แต่ทุกสิ่งล้วนชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต สุดท้ายผู้ชมเองจะเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อประสบการณ์ผ่านจิตรกรรมเหล่านี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ประวัติศาสตร์และมนุษย์ในฐานะประชากรของโลกได้บรรจบกัน

นิทรรศการ “Anthroposphere” จัดแสดงถึงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
บริเวณหอศิลป์ ชั้น 1 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery)