“เป็นศิลปินต้องไส้แห้ง” เป็นความคิดที่เอ๊าท์ไปนานมากแล้ว ข่าวดีอีกอย่างก็คือคุณไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินระดับบิ๊กเนมที่ขายงานชิ้นใหญ่ๆ ให้มิวเซียมหรือนักสะสมศิลปะด้วยซ้ำ แต่คุณก็ “รวย” ได้ ถ้ารู้จักวิธีการทำเงินจากโลกออนไลน์ใบนี้ดีพอ
Kooper ขอเสนอ 7 วิธีที่ช่วยให้คุณทำเงินได้ โดยไม่ต้องสูญเสียสถานะความเป็นศิลปิน เลือกดูว่าคุณเหมาะกับทางไหน
1. ขายศิลปะผ่านโซเชียลมีเดีย
คุณรู้อยู่แล้วว่าคนไทยใช้เวลากับโซเชียลมีเดียต่อวันไม่แพ้ชาติไหนในโลก แต่คุณมองเห็นช่องทางทำเงินไหมล่ะว่า ยิ่งผู้บริโภคใช้เวลาไถฟีดของพวกเขามากเท่าไร ย่อมหมายความว่าพวกเขามีโอกาสจะค้นพบผลงานของคุณมากเท่านั้น… ที่สำคัญ ยิ่งเจอบ่อย เห็นบ่อย (และถ้างานคุณดีจริง) demand ก็จะค่อยๆ เริ่มก่อตัวจนกลายเป็นยอดขายในที่สุด
โซเชียลมีเดียที่ศิลปินควรมีคือ Instagram และ Facebook สิ่งที่คุณต้องทำคือ โพสต์รูปผลงานของคุณที่จัดแสง แบ็คกราวด์ และถ่ายภาพออกมาอย่างสวยงามมีสไตล์ โดยพยายามโพสต์ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง นอกจากนั้น อย่าลืม hashtag โดนๆ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และเขียนแนะนำเกี่ยวกับตัวคุณเองสักนิดให้น่าสนใจ ที่สำคัญ เช็คอินบอกซ์ให้บ่อย ถ้ามีคนติดต่อเข้ามา คุณต้องตอบให้เร็วที่สุด
Tips: ห้ามใจร้อน การขายทางโซเชียลมีเดียจำเป็นต้องใช้เวลา อย่าลืมสะสม follower ให้มากๆ อย่างน้อยถ้าคุณยังขายงานไม่ได้ นี่คือช่องทางพีอาร์ตัวคุณเองที่ดี (และถูก) ที่สุด

2. ใช้ศิลปะเพิ่มมูลค่าสินค้าอื่น
อย่าหวงภาพวาดของคุณไว้บนแคนวาสเพียงอย่างเดียว ลองเอามันไปดีไซน์บนเสื้อยืด ผ้าพันคอ tote bag เคสโทรศัพท์มือถือ และข้าวของอื่นๆ ดู เท่านี้คุณก็อาจจะได้โปรดักต์ที่ไม่เหมือนใครไว้ทำเงินได้เรื่อยๆ
Tips: ลงทุนกับคุณภาพวัสดุและการผลิตสักหน่อยเพื่อไม่ให้โปรดักต์ของคุณดูด้อยค่า / และกลับไปอ่านข้อ 1 ให้ดีอีกครั้ง เพราะจำนวน follower จะช่วยให้การขายสินค้าของคุณง่ายขึ้น
3. ช่องทาง online ต้องใช้ให้คุ้ม
ไหนๆ ก็เปิดประตูเข้าสู่ออนไลน์แล้ว อย่าลืมไปเปิด account ของคุณตามเว็บขายงานศิลปะต่างๆ ด้วย ใครจะรู้ วันดีคืนดีอาจมีคอลเล็กเตอร์ชื่อดังมาขอซื้องานของคุณก็ได้ เพราะเว็บไซต์พวกนี้ก็คือ art market ดีๆ นี่เอง
Tips:
(1) สำหรับ ภาพวาดต้นฉบับ ลองดู amazon art section, Artfinder, Artplode (รับภาพถ่ายด้วย) และ Saatchi Art
(2) สำหรับงานแฮนด์เมด ลองไปที่ Etsy / ส่วน Sellfy นั้นใจกว้าง เพราะเปิดรับผลงานทุกประเภท รวมไปถึงกราฟิก ดนตรี และหนังสือ
4. เช่าบูธโชว์ตัวใน art fair
ถึงออนไลน์จะเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการทำธุรกิจ ณ เวลานี้ แต่นานๆ ทีเมื่อมีโอกาส ศิลปินก็ควรออกจากถ้ำเพื่อหอบเอาผลงานไปวางขายและพบปะกับแฟนตัวเป็นๆ บ้าง แน่นอน สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดคือเทศกาลจำพวก art fair, art market หรือ design week แนะนำอีกนิดว่าถ้าเป็นไปได้ คุณควรไปนั่งเฝ้าบูธเองทุกวัน เพราะนี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่จะได้ทำความรู้จักกลุ่มลูกค้า และใครจะอธิบายถึงผลงานของคุณได้ดีไปกว่าตัวคุณเองล่ะ? จริงไหม
Tips: พิถีพิถันกับการตกแต่งบูธสักหน่อย อย่ามองมันเป็นแค่บูธ เพราะใน art fair บูธคือตัวตนและผลงานของคุณด้วย หากขายงานไม่ได้ อย่างน้อยผู้ชมจะจดจำชื่อคุณได้จากภาพรวมทั้งหมด ที่สำคัญอีกอย่าง อย่าลืมติด QR Code หรืออะไรก็ตามที่ลิงค์ไปยังเพจและเว็บไซต์ต่างๆ ของคุณให้เห็นเด่นชัดด้วย
5. เปิดรับงานแบบ “ตามสั่ง” (commission)
อย่าเพิ่งร้องยี้ แม้แต่ศิลปินบิ๊กเนมหลายคนก็ยังรับงานคอมมิชชั่น เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ออกมาประกาศให้โลกรู้เท่านั้นแหละ!
Tips: คุณควรระบุไว้ในเพจและเว็บไซต์ด้วยว่า คุณรับสร้างสรรค์ศิลปะตามสั่งด้วย ลูกค้าที่ชอบสไตล์ของคุณจะได้กล้าติดต่อมา หรือหากอยากหาลูกค้าเชิงรุกกว่านั้น ลองเข้าไปที่ Artfinder, Artist&Clients และ ArtCorgi เป็นต้น
6. ผันตัวเป็นครูสอนศิลปะ
มีนักสร้างสรรค์หลายคนที่ขายผลงานไป พร้อมๆ กับเอาทักษะเฉพาะทางของตัวเองมาเปิดคอร์สสอนคนอื่น แถมบางคนยังไปได้ดีกับการเป็นครู จนทำงานศิลปะเป็นงานเสริมไปเลยก็มี
ห้องเรียนศิลปะเป็นได้ทั้งแบบห้องเรียนจริงๆ ที่มีนักเรียนสมัครเข้ามาเรียนตรงหน้า และที่อาจเหมาะกับยุค social distancing นี้มากกว่าก็คือห้องเรียนออนไลน์ (ซึ่งดีต่องบในกระเป๋าด้วย) สิ่งสำคัญคือหลักสูตรวิชาที่คุณสอนต้องน่าสนใจสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ถามตัวเองก่อนว่าทักษะและเนื้อหาที่คุณเตรียมไว้นั้นดีพอแล้วหรือยัง ซ้ำกับใครหรือเปล่า นอกจากนั้น คุณยังต้องรู้จักวิธีสื่อสารไปยังนักเรียนของคุณให้ได้ประสิทธิภาพดีพอด้วย
Tips: คุณมี Facebook page แล้วนี่ เพราะฉะนั้นอย่าลืมทำคอนเทนต์ออนไลน์ควบคู่ไปกับคอร์สของคุณ ไม่ว่าจะทาง Facebook Live หรือ Youtube หรืออาจเป็นคลิปสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าคุณมีฝีมือน่าสนใจยังไงคนอื่นถึงต้องมาลงเรียน
7. หาทุน / หาเวทีประกวด
ถ้าทั้งหมดที่ว่ามายังไม่เข้าทางคุณเลยสักข้อเดียว ก็เหลือวิธีสุดท้ายนี้แหละ การส่งงานประกวด (และถ้าได้รางวัล) จะทำให้คุณได้ทั้งเงินรางวัลและการเป็นที่รู้จัก รวมทั้งมูลค่าของผลงานของคุณก็จะมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นด้วย ส่วนทุนสำหรับศิลปินนั้น เหมาะสำหรับศิลปินที่เน้นหนักไปในงานทางความคิดมากกว่า ข้อดีของทุนคือคุณมักมีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องห่วงว่างานจะขายหรือไม่ขาย และไม่ต้องไปแข่งกับใคร ยกเว้นก่อนได้ทุนที่คุณต้องแย่งชิงกับคนอื่นๆ
Tips: หูตาคุณต้องไว ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการประกวดและทุนให้ดี follow เพจพวกองค์กรศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย และ NGO หรือลองเสิร์ชด้วย keyword ว่า grants for artist และ artist contest และลองเลือกอันที่เข้าข่ายความสนใจ
–
เราขอให้คุณโชคดีในอาชีพศิลปิน แต่อย่าหลงทางจนให้ “เงิน” เข้ามามีความสำคัญกับตัวเองมากเกินไป เพราะคุณควรมีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่รัก ไปพร้อมๆ กับให้สิ่งนั้นสร้างอาชีพที่มั่นคงแก่คุณ