fbpx

6 เทรนด์อินโฟกราฟิกปี 2021 ที่คนทำงานสร้างสรรค์ควรรู้

รวมเทรนด์การออกแบบอินโฟกราฟิกที่ตอบรับกระแสการบริโภคในปี 2021

สงบ – คิดบวก – ไม่ซับซ้อน คือคีย์เวิร์ดแห่งปี

เริ่มต้นจาก

1. โทนสีเลียนแบบธรรมชาติ (Muted Colour Palettes)

กลุ่มโทนสีที่เลียนแบบธรรมชาติยังคงมาแรงต่อเนื่อง ซึ่งถ้าใครไม่คุ้นหูกับคำนี้ก็ให้นึกถึงกลุ่มสี ‘เอิร์ธโทน’ หรือ ‘เรโทร’ ไว้ก่อน เพราะตั้งแต่ปีที่แล้วที่ชีวิตมนุษย์เราตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของโควิด ผู้คนต่างมองหาสัมผัสที่ช่วยให้จิตใจเบาสบาย ผ่อนคลาย เป็นช่วงชีวิตที่ไม่ต้องการความเอิกเกริก (เพราะตลอดปีที่ผ่านมามันก็หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว) ฉะนั้นโทนสีธรรมชาตินิ่งๆ นี่แหละคือตัวเบรกอารมณ์ที่ดี ที่แบรนด์ต่างๆ สามารถประยุกต์ใช้เพื่อช่วยให้ผู้คนรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย และหวนคิดถึงสิ่งดีๆ ในชีวิตได้บ้าง

สองแบรนด์ที่เริ่มใช้โทนสีกลุ่มนี้ในการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างชัดเจนคือ LinkedIn และ Apple ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูเป็นมิตรขึ้นมากทีเดียว


2. นำเสนอข้อมูลภาพอย่างเรียบง่าย (Simple Data Visualization)

เพราะหัวใจของการสื่อสารข้อมูลด้วย ‘ภาพ’ นั้น คือการอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่ายขึ้น ยิ่งถ้าผู้รับสารดูภาพ (หรืออินโฟกราฟิก) ของคุณแล้วไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ เพิ่มอีกเลย นั่นคือดีที่สุด! ยกตัวอย่างการพรีเซ้นต์ข้อมูลของ Twitter Marketing ที่มักนำเสนอผ่านภาพและตัวเลขเพียงชุดเดียวสั้นๆ – ชาวเน็ตไถมือถือผ่านแว้บเดียวก็เข้าใจทันที แทบไม่ต้องอธิบายด้วยตัวหนังสือเลย

หรือหากเรามีชุดข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น ก็อย่าทำให้ผู้บริโภคของเราต้องคิดซับซ้อนตามไปด้วย (เพราะรับประกันว่าทุกคนจะไถผ่านไปทันที 555) ขอยกตัวอย่าง Linkedin Marketing อีกทีตรงนี้ ดูจาก pie chart ที่เขาพรีเซ้นต์ข้อมูลการสำรวจอันหนึ่ง ดูปุ๊บคุณก็เดาได้ใช่ไหมว่าสีเหลือง (Personal growth) คือคำตอบที่ป๊อบปูล่าร์สุด ส่วนสีแดง (Improved professional skill) คือที่ Linkedin เขาให้ความสำคัญมากสุด


3. รูปทรงเรขาคณิตมาแรง (Geometric Shapes)

ปีสองปีที่แล้ว อาจจะเป็นยุคทองของดีไซน์แบบ free form แต่ปี 2021 นี้เราจะเห็นหลายแบรนด์เริ่มหันมาเล่นกับรูปทรงเรขาคณิตมากขึ้น เหตุผลคือเพราะความเป็น ‘ฉาก’ เป็น ‘มุม’ เป็น ‘องศา’ ที่ชัดเจนนี้ มันตอบโจทย์เรื่องความตรงไปตรงมา มีโครงสร้าง มีความสม่ำเสมอ มีระบบระเบียบ ซึ่งความง่ายนี้เองกำลังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการที่สุด

แถมในบางกรณีรูปทรงเรขาคณิตยังช่วยเพิ่มมิติและเท็กซเจอร์ให้งานดีไซน์ของคุณได้ด้วยนะ


4. ภาพประกอบและไอคอน 2 มิติ (Flat Icons & Illustrations)

เทรนด์งานกราฟิกและอินโฟกราฟิกเป็นสิ่งที่วนไปเวียนมาเสมอ อะไรที่เคยเอ๊าท์ไปเมื่อ 5 ปีก่อนอาจะกลับมาอินใหม่อีกครั้งก็ได้ ยกตัวอย่างงานกราฟิกของแบรนด์ Mailchimp สมัยปี 2015 ที่ดูแล้วก็แทบไม่ต่างจากงานยุคหลังๆ นี้เลย

เรื่องนี้ใช่ว่าจะไม่ดี เราแค่ต้องยอมรับว่าเทรนด์งานกราฟิกนั้นมันวนเวียนเป็นวัฏจักร ทีนี้ถ้าคุณกำลังต้องออกแบบภาพประกอบ หรืองานที่ใช้ภาพแบบเป็นซีรีย์ล่ะก็ ลองเล่นกับไอคอนง่ายๆ พวกนี้ดูสิ ข้อดีคือมันประยุกต์ใช้และต่อยอดง่ายมาก ทั้งในงานโซเชียลมีเดีย ในงานอินโฟกราฟิกต่างๆ หรือแม้กระทั่งในงานออกแบบพรีเซนเทชั่น ดูตัวอย่างการใช้งานไอคอนแบนๆ ที่ทำออกมาแล้วดูดี เรียบง่าย และสื่อสารได้รวดเร็ว


5. ฟอนต์คลาสสิกแบบมีขา (Classic Serif Fonts)

Serif font คือฟอนต์กลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน (น่าจะเริ่มใช้กันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 นู่น) เหตุผลเพราะฟอนต์ยุคโบราณนี้…มันมีบุคลิกพิเศษของมันนั่นคือ คลาสสิก หรูหรา น่าเชื่อถือ และทำให้คนจำนวนมากหวนคิดถึงภาพอดีตอันสวยงาม ถือเป็นการส่งผ่านพลังบวกอย่างหนึ่ง

ขอยกตัวอย่างจาก Mailchimp อีกสักรอบ พวกเขาใช้ serif font ในงานดีไซน์ของแบรนด์เยอะมาก แต่ที่โดดเด่นสุดๆ คือบนหน้า landing page ต่างๆ ซึ่งทำให้แบรนด์ยุคดิจิทัลแบรนด์นี้ดูน่าเชื่อถือขึ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักธุรกิจ คุณจะสังเกตว่าภาพประกอบที่เป็น illustration วาดมือสนุกๆ เมื่อประกบคู่กับฟอนต์สไตล์คลาสสิกแบบนี้ก็ทำให้ภาพรวมของแบรนด์ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ดูพึ่งพาได้ และยังคงทันสมัย เป็นตัวของตัวเอง ไม่หัวโบราณ

ข้อควรระวังคือมันจะไม่ใช่ฟอนต์ที่อ่านง่ายบนหน้าจอนัก จึงควรใช้แค่กับ headline หรือ title เป็นหลัก


6. สไลด์บนแพลทฟอร์มโซเชียล (Social Slide Decks)

ฟีเจอร์ slide decks นี้เราเห็นกันได้บ่อยใน Instagram และ Linkedin เพราะเป็นฟีเจอร์หลักที่เขาเปิดให้เรานำเสนอคอนเทนต์ภาพแบบเป็นซีรีย์ได้ ซึ่งข้อดีของมันคือมันมักจะได้ impression rate สูงกว่าภาพกราฟิกเดี่ยวๆ 10 – 20 เท่า ในแง่การสื่อสาร จุดเด่นของการทำ infographic ด้วยฟีเจอร์ slide decks นี้คื อมันเหมาะมากสำหรับการทำ ‘บทสรุปย่อ’ ของเนื้อหายาวๆ ที่เราเคยเขียนใน blog post – ดูตัวอย่างข้างล่างนี้เป็นต้น

แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา มีหลายแบรนด์ที่ประยุกต์ใช้ฟีเจอร์นี้ได้ฉลาดล้ำขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างเช่น Zoom ที่ใช้ slide decks อธิบายวิธีการใช้งานโปรดักท์ของพวกเขาใน Instagram (ดูก็ง่าย เข้าใจก็ง่าย แชร์ต่อก็ง่าย อะไรจะดีไปกว่านี้อีก?)

หรือ Grammarly ที่ขยันสร้างคอนเทนต์น่ารักๆ แบบนี้เพื่อ engage กับลูกค้าเป้าหมายที่เป็นนักอ่าน-นักเขียน  


เริ่มคันไม้คันมือกันแล้วรึยัง?
ถึงตรงนี้คุณน่าจะพอเห็นล่ะว่าเทรนด์กราฟิกและอินโฟกราฟิกประจำปี 2021 นี้ หัวใจของมันคือ ความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ซึ่งไม่ว่าคุณจะเจอโจทย์ลูกค้าในธุรกิจประเภทไหน หรือกำลังเตรียมทำงานให้กับแบรนด์ตัวเอง เราเชื่อว่าคุณน่าจะใช้ประโยชน์จาก 6 เทรนด์ข้างต้นนี้ได้เยอะทีเดียวล่ะ

– สู้สู้ & Haapy Designing !

อ้างอิงข้อมูล: venngage.com
ภาพเปิด: www.stigma.solutions

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี